Monday, April 28, 2025

เลือกตั้งสิงคโปร์ 3 พ.ค. เดิมพันครั้งสำคัญของนายกฯ คนใหม่ “ลอว์เรนซ์ หว่อง”

Share

สิงคโปร์เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 โดยนับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากนายลีเซียนลุงเมื่อปี 2567 หลังดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศยาวนานกว่า 20 ปี

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญของผู้นำคนใหม่และพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) ซึ่งปกครองประเทศมาตลอดตั้งแต่ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองจากสหราชอาณาจักรในปี 1959 โดยผลสำรวจจาก YouGov ที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า ในกลุ่มตัวอย่างชาวสิงคโปร์ 1,845 คนซึ่งตอบแบบสอบถามในเดือนมีนาคม 2568 พบว่า 44% ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร โดยในจำนวนนี้ 63% ระบุว่าจะลงคะแนนให้พรรค PAP และ 15% สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคแรงงาน (Workers’ Party)

การเลือกตั้งปีนี้จะมีการชิงเก้าอี้ในรัฐสภาทั้งสิ้น 97 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจาก 93 ที่นั่งในปี 2563 ซึ่งครั้งนั้นพรรค PAP ชนะไป 83 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแรงงานคว้าได้ 10 ที่นั่ง นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดของฝ่ายค้านนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 1965

นายลอว์เรนซ์ หว่อง วัย 51 ปี เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นหัวหน้าคณะบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 2567 หลังการประกาศวางมือของนายลีเซียนลุง ผู้เป็นบุตรชายของนายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์

ก่อนการเลือกตั้ง นายหว่องได้แถลงนโยบายงบประมาณประจำปีครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีการประกาศมาตรการลดภาระค่าครองชีพ แจกเงินช่วยเหลือภาคครัวเรือน รวมถึงมาตรการสนับสนุนนโยบายเฉพาะด้าน อาทิ สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และแรงงาน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นงบประมาณแนว “สร้างความรู้สึกดี” เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง

สิงคโปร์ใช้ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงคะแนน (first-past-the-post) คล้ายกับสหราชอาณาจักร แต่มีลักษณะเฉพาะ คือ ระบบเขตเลือกตั้งแบบกลุ่ม หรือ Group Representative Constituencies (GRCs) ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะลงแข่งขันกันเป็นทีม 3–5 คน และต้องมีผู้สมัครอย่างน้อยหนึ่งคนที่มาจากชนกลุ่มน้อยตามเชื้อชาติ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสภา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า ระบบ GRC และการปรับเขตเลือกตั้งที่ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน เป็นอุปสรรคต่อพรรคขนาดเล็กและผู้สมัครอิสระ รวมถึงการเก็บเงินวางมัดจำจำนวน S$13,500 (ประมาณ 9,700 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งหากผู้สมัครไม่ได้คะแนนเกิน 12.5% จะไม่ได้รับเงินคืน

สิงคโปร์มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 2.75 ล้านคน และการลงคะแนนเสียงถือเป็นภาระหน้าที่ตามกฎหมาย โดยผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิจะถูกถอดจากทะเบียนเว้นแต่จะแสดงเหตุผลอันสมควร

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์มีนายกรัฐมนตรีเพียง 4 คน และทุกคนมาจากพรรคกิจประชาชน โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะเป็นจุดชี้วัดสำคัญของพรรคและผู้นำรุ่นใหม่ว่าจะยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนต่อไปหรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายด้านเศรษฐกิจและความต้องการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคหลังโควิด


ที่มา : BBC:  Singapore to hold general election on 3 May

ติดตามเราได้ที่ 

Facebook

Cinvestix Writer
Cinvestix Writerhttp://cinvestix.com
Business, Investment and Lifestyle

Read more

Articles You Might Like